“ปวีณา” ร่วมงานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขยายเครือข่ายและการจัดระบบบริการแบบครบวงจร (One stop crisis center) สำหรับเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง” โดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน พร้อมร่วมลงนาม MOU ต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดีในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันศุกร์ที่ 27 ต.ค.66 รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขยายเครือข่ายและการจัดระบบบริการแบบครบวงจร (One stop crisis center) สำหรับเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง” โดยมี ดร.ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายแพทย์เกรียงไกร ตั้งจิตมณีศักดา รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พล.ต.ต.พรพิทักษ์ ชูยืนยง รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี ก่อนที่ทุกท่านจะร่วมลงนามต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย ไม่สนับสนุนความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ณ ห้องประชุมบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
พร้อมกันนี้ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ยังได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ “องค์กรสาธารณประโยชน์ต่อการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรงในสังคมปัจจุบัน” โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
จากนั้นภายในงานได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น “หลักกฎหมายและการดำเนินงานของศูนย์พึ่งได้ oscc เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในสังคม” และ “นโยบายยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรีกับทิศทางการดำเนินงานของศูนย์พึ่งได้ กรุงเทพมหานคร” ก่อนจะร่วมกันทำกิจกรรม Work shop ร่างพัฒนาการจัดระบบบริการศูนย์พึ่งได้แบบครบวงจร (One stop crisis center) กรุงเทพมหานคร
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น โดย นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล ผอ.รพ.ราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กรรมการและเลขานุการฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำร่อง ตามที่กรุงเทพมหานครมีนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อผยแพร่บริการที่สอดคล้องกับ 24 นโยบายสุขภาพดีปี 2 ในด้านโรคคนเมือง เพิ่มคลินิกเฉพาะทาง คลินิกเพศหลากหลาย บริการดูแสุขภาพจิตดี และศูนย์พึ่งได้ OSCC เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกระทำรุนแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนเข้าถึงบริการแบบครบวงจร
โดยการขยายเครือข่ายบริการแบบครบวงจรสําหรับเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง เป็นการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุข และบูรณาการความร่วมมือระหว่างบุคลากรภาครัฐ ตํารวจ อัยการ ตุลาการ เครือข่ายภาคเอกชน มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ บุคคลในครอบครัว โดยใช้พลังของเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐต่างสังกัด เกิดการรับฟังปัญหาจากภาคประชาชน และพัฒนาระบบบริการ แก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง สามารถยุติความรุนแรงในสังคมได้