ที่มูลนิธิปวีณาฯ : วันที่ 8 เม.ย.68 หญิงม่ายเกษตรกรชาวนาเดินทางจาก จ.ฉะเชิงเทรา ร้อง “ปวีณา” ถูก “กองร้อยปอยเปต” แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอน สูญเงินกว่า 6.2 แสนบาท สุดช้ำ!! สามีเพิ่งเสียชีวิตไป 6 เดือน ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ได้เงินประกันชีวิตสามีมาหวังเก็บไว้ให้ลูกสาวฝาแฝดได้เรียนหนังสือแต่กลับมาโดนหลอกหมดตัว “ปวีณา” ประสาน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ตำรวจไซเบอร์ พ.ต.อ.ภูริทัต บุญช่วย ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ช่วยเหลือล่าตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาดำเนินคดี และประสาน นางปราณี ประทุมมา พมจ.ฉะเชิงเทรา ช่วยเหลือครอบครัว พร้อมให้ผู้เสียหายเดินทางไปพบ ผกก. ที่สภ.เมืองฉะเชิงเทราบ่ายวันนี้ เพื่อประชุมหาแนวทางช่วยเหลือ “ปวีณา” เตือนภัย!! หากมีเบอร์แปลกโทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด ให้วางสายทันที
นางนิด (นามสมมุติ) อายุ 44 ปี พร้อมลูกสาวฝาแฝด 2 คน อายุ 14 ปี เดินทางมาจากจ.ฉะเชิงเทรา เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แจ้งว่า ตนเองมีอาชีพเป็นเกษตรกรชาวนาและเลี้ยงปลาส่งขาย ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกสูญเงินไปกว่า 6.2 แสนบาท ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากประกันชีวิตของสามีที่เพิ่งเสียไปเมื่อเดือน พ.ย.67 ตั้งใจว่าจะเก็บไว้ให้ลูกฝาแฝดได้เรียนหนังสือแต่กลับมาถูกหลอกจนแทบหมดตัว
โดยเหตุเกิดช่วงบ่ายวันที่ 2 เม.ย.68 จู่ๆ มีเบอร์โทรฯ 092-091-8772 โทรเข้ามาหาตนเป็นเสียงผู้หญิง บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากค่ายโทรศัพท์มือถือพร้อมกับบอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชนของตนได้ถูกต้อง และกล่าวหาว่าตนมีการนำบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือโทรไปก่อกวนคนอื่นได้รับความเดือดร้อนจนมีการร้องเรียนเข้ามา ซึ่งตนได้ปฏิเสธว่าไม่เคยทำเรื่องดังกล่าว จากนั้นผู้หญิงคนดังกล่าวได้ส่งโทรศัพท์ไปให้กับผู้ชายอีกคนที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจโรงพักแห่งหนึ่งในพื้นที่จ.อุตรดิตถ์ มาคุยกับตนและกล่าวหาว่าตนเปิดบัญชีเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจะต้องถูกดำเนินคดี ติดคุก ถูกยึดทรัพย์ ตนตกใจมากพยายามอธิบายว่าไม่เคยทำเรื่องผิดกฎหมาย
ผู้ชายที่อ้างเป็นตำรวจจึงได้ให้ตนแอดไลน์คุยวิดีโอคอล ตนก็เห็นว่าผู้ชายคนนี้แต่งเครื่องแบบตำรวจนั่งอยู่ในโรงพักและเขายังโชว์บัตรตำรวจให้ดูจึงคิดว่าเขาเป็นตำรวจจริง หลังจากนั้นเขาก็อ้างว่าจะช่วยไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยให้ตนแสดงความบริสุทธิ์ใจโอนเงินไปตรวจสอบถ้าไม่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจะโอนเงินคืนให้ พร้อมกับย้ำให้ตนโอนจากแอปธนาคารในมือถือเท่านั้น แต่ในแอปธนาคารมือถือมีเงินไม่มาก เขาก็ให้ตนไปถอนเงินเก็บจากธนาคารซึ่งเป็นเงินประกันชีวิตของสามีที่เสียไปแล้ว 650,000 บาท ก่อนจะโอนเงินผ่านแอปธนาคารในมือถือวันที่ 2 เม.ย. จำนวนถึง 10 ครั้ง รวมเป็นเงิน 626,000 บาท ซึ่งบัญชีปลายทางเป็นชื่อของชายและหญิง 2 คน รวม 3 ธนาคาร ตลอดเวลาที่แชตไลน์และวิดีโอคอลเขาจะบอกตลอดว่าอย่าไปบอกใคร
กระทั่งช่วงสายของวันที่ 3 เม.ย.68 เขาก็ได้วิดีโอคอลมาอีกบอกให้ตนโอนเงินไปตรวจสอบเพิ่ม แต่ตนไม่มีเงินแล้วจึงได้ถามกลับไปว่าแล้วจะโอนเงินคืนให้เมื่อไหร่ เขาบอกให้ตนไปที่โรงพักใกล้บ้านแล้วเขาจะคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในโรงพักเพื่อจะได้ทำบันทึกเป็นหลักฐานในการโอนเงินคืนให้ ตนหลงเชื่อจึงรีบเดินทางไปที่สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อจะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบนโรงพักช่วยคุยโทรศัพท์และหวังว่าจะได้รับโอนเงินคืน แต่เมื่อตนโทรฯ กลับไปหาชายที่อ้างเป็นตำรวจหลายครั้งก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกจึงรู้ว่าถูกมิจฉาชีพหลอก วันนั้นตนจึงได้แจ้งความที่สภ.เมืองฉะเชิงเทรา และเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ เพื่อช่วยติดตามคดี
หลังรับเรื่อง นางปวีณา ได้ประสาน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พ.ต.อ.ภูริทัต บุญช่วย ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อขอปิดบัญชีผู้เสียหาย ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงิน และช่วยเร่งติดตามจับกุมผู้กระทำผิดที่เป็นขบวนการคอลเซ็นเตอร์
นางปวีณา กล่าวว่า เคสนี้น่าสงสารมากเป็นหญิงม่ายที่เพิ่งสูญเสียสามีไปไม่นาน มีอาชีพทำนาปลูกข้าว แต่ไม่มีที่นาเป็นของตนเองยังต้องเช่าที่นาคนอื่นอยู่ และต้องเลี้ยงลูกสาวฝาแฝด 2 คนที่เพิ่งเรียนอยู่ชั้นม.2 เพียงลำพัง ได้เงินฌาปนกิจศพประกันชีวิตของสามีมาหวังจะเก็บเอาไว้ให้ลูกเรียนหนังสือแต่ต้องมาเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกจนหมดตัว ขณะนี้ได้ประสาน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พ.ต.อ.ภูริทัต บุญช่วย ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่โอนไปและช่วยเร่งติดตามจับกุมขบวนการคอลเซ็นเตอร์มาดำเนินคดี และขอให้หน่วยงานทั้งหลายรวมถึงกระทรวงมหาดไทยช่วยประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชนและชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาแม้จะมีการปราบปรามอย่างหนักแต่ก็ยังมีคนโดนหลอกมาตลอด
สำหรับการช่วยเหลือเคสนี้นางปวีณา ห่วงใยลูกสาวฝาแฝดทั้ง 2 คนของผู้เสียหายในเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน เพราะครอบครัวฐานะยากจน ซึ่งจะได้ประสาน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ให้การช่วยเหลือ และจะประสาน นางปราณี ประทุมมา. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เกษตรกรจังหวัด นายอำเภอ ช่วยเหลือครอบครัวในเรื่องของการประกอบอาชีพและเงินช่วยเหลือ โดยมูลนิธิปวีณาฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการช่วยต่อไป
นางปวีณา กล่าวเตือนภัยพี่น้องประชาชนให้ระวัง เมื่อได้รับโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่รู้จัก และอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด และให้รีบวางสายทันที
สถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิปวีณาฯ ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 5,647 ราย พบปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ พุ่งสูงขึ้น 668 เรื่อง 1.หลอกลงทุน 318 ราย เสียหายกว่า 3 พันล้าน 2.หลอกเป็น call center 64 ราย 3.หลอกถ่ายคลิปโป๊ 105 ราย