วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. ณ อาคารศาลารักษ์ปทุม ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานใน “ พิธีถวายราชสักการะเนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการฯ ข้าราชการฯ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ตลอดจนประชาชนจังหวัดปทุมธานี ร่วมพิธีโดยพร้อมเพียง ทั้งนี้ เทศบาลนครรังสิตโดย ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต มอบหมาย นายชยุต สินพูนภักดิ์ รองนายกเทศมนตรีนครรังสิต พร้อมด้วยพนักงานเทศบาลนครรังสิต ร่วมพิธีฯ
1 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้าวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2330 และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี เป็น “ วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ” หรือ “ วันเจษฎา ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม ( ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน )
เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ ครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2352 พระองค์ ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรม พระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงกำกับราชการกรมท่า ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเรียกพระองค์ว่า “ เจ้าสัว ”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวม พระชนมพรรษาได้ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เฉลิมพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 3 ใหม่ เป็น “ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ออกพระนามโดยย่อว่า “ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า “ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ” หรือ “ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ”
ตลอดระยะเวลาที่รัชกาลที่ 3 ทรงครองราชสมบัติ ประมาณ 27 ปี ตั้งแต่ปี 2367 – 2394 พระองค์ทรงปกครองประเทศโดยทำนุบำรุงให้ชาติเข้มแข็งรุ่งเรือง โดยทรงมีส่วนร่วมกับขุนนางในการบริหารราชการ และทรงควบคุมกิจการบ้านเมืองด้วยพระองค์เองมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ และทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศชาติอย่างหลากหลายวิธี อาทิ การส่งสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้าและแรงงานเป็นการชำระด้วยเงินตรา รวมถึงมีการเก็บภาษีตั้งขึ้นใหม่ถึง 38 อย่าง เพื่อมิให้บังเกิดความขาดแคลนเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลก่อน ทั้งยังได้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศ สร้างกองทัพเรือ ขุดคูคลอง สร้างป้อมปราการเพื่อรักษาปากน้ำจุดสำคัญ ๆ ในขณะเดียวกันก็ทำนุบำรุงประเทศพร้อมกันไปด้วย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาต่างๆ เช่น ในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ถวายพระราชสมัญญาว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า และได้ใช้เป็นสร้อยพระนามสืบมาจนปัจจุบัน ต่อมา พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการค้าไทย พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย และในปี พ.ศ. 2558 ถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็น วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันมหาเจษฎาบดินทร์ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และเห็นชอบให้ให้ถวายพระราชสมัญญาว่า “ พระมหาเจษฎาราชเจ้า ” แปลว่า “ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ ”
หน้าแรก ประชาสัมพันธ์ จังหวัดปทุมธานี จัดพิธีถวายราชสักการะเนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า 31 มีนาคม 2567