วันนี้ (20 กรกฎาคม 2566) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมเพชรทอง โรงแรมร้อยทองรีสอร์ท ตำบลแพรกหา
อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กรมทางหลวงชนบท ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบถนนเลี่ยงเมืองพัทลุง (ด้านเหนือ) อำเภอควนขนุน
อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการในทุกด้าน พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจาก นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
จังหวัดพัทลุง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศทั้งด้าน
การท่องเที่ยว การขนส่ง แต่ปัจจุบันการขยายตัวของเศรษฐกิจมีข้อจำกัด เนื่องจากมีถนนสายหลักในการเดินทางเพียงเส้นทางเดียว คือ ทางหลวงหมายเลข 4047 (ถนนราเมศวร์) โดยเส้นทางนี้จะต้องผ่านเขตชุมชนเมืองพัทลุง ทำให้การจราจรติดขัด เกิดความเดือดร้อนต่อผู้ใช้ทาง เพราะไม่มีเส้นทางอื่นทดแทนและไม่สามารถรอบรับการขยายตัวด้านคมนาคมขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ กรมทางหลวงชนบท จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างถนนทางเลี่ยงเมืองพัทลุง (ด้านเหนือ) บริเวณอำเภอควนขนุน อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งช่วนเสริมศักยภาพการเติบโตของเมืองพัทลุง พัฒนาระบบโลจิสติกส์และส่งเสริมการท่องเที่ยว
สำหรับพื้นที่ดำเนินการศึกษาโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 10 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอ
ควนขนุน มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลพนมวังก์ และตำบลแพรกหา อำเภอเมืองพัทลุง มี 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลปรางหมู่ ตำบลเขาเจียก ตำบลคูหาสวรรค์ ตำบลลำปำ ตำบลพญาขัน ตำบลควนมะพร้าว ตำบลตำนาน และตำบลชัยบุรี โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการมีรายละเอียด ดังนี้ 1. แนวถนนของโครงการ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 บริเวณ กม.378+800 ในบริเวณตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง โดยแนวถนนโครงการเป็นถนนตัดใหม่ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4048 บริเวณ กม.4+000 ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4009 บริเวณ กม.1+800 จากนั้นมุ่งหน้าตัดผ่านทางรถไฟสายใต้ ตัดผ่านถนนเขาแดง-ไสยอม ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4001 บริเวณ กม. 4+300 และไปสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4007 บริเวณ กม. 4+800 ในบริเวณตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ระยะทางประมาณ 12.054 กิโลเมตร
2. รูปแบบถนนโครงการ จะเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีเกาะกลางและไหล่ทางทั้ง 2 ข้าง ออกแบบตามสภาพพื้นที่โครงการ โดยหากถนนโครงการอยู่ในเขตชุมชนจะมีทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าเพื่อระบายน้ำในเขตชุมชน ในอนาคตถนนโครงการสามารถขยายเป็นถนนขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) 3. รูปแบบทางแยกโครงการ บริเวณถนนโครงการมีจุดตัดทางแยกทั้งหมด 6 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณทางแยก กม.0+000 จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ออกแบบเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ออกแบบเป็นทางเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นดิน ระยะที่ 2 เมื่อปริมาณจราจรมากขึ้นและเกิดปัญหาจราจรติดขัดจะมีการพิจารณาโครงข่ายถนนด้านตะวันตกเชื่อมต่อบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ และจะก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41
จุดที่ 2 บริเวณทางแยก กม.2+080 ตัดผ่านกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4048 ออกแบบเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ออกแบบเป็นสี่แยกวงเวียนระดับพื้น ระยะที่ 2 เมื่อปริมาณจราจรมากขึ้นและเกิดปัญหาจราจรติดขัดจะก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4048 จุดที่ 3 บริเวณทางแยก กม.3+916 ตัดกับทางหลวงชนบท พท.4009 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร จุดที่ 4 บริเวณทางแยก กม.6+414 ตัดกับถนนเขาแดง-ไสยอม ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร จุดที่ 5 บริเวณทางแยก กม.9+743 ตัดกับทางหลวงชนบท พท.4001 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร จุดที่ 6 บริเวณทางแยกจุดสิ้นสุดถนนโครงการ กม.12+059 เชื่อมกับทางหลวงชนบท พท.4007 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบจุดกลับรถตามแนวถนนโครงการ โดยจะกำหนดตำแหน่งจุดกลับรถให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่โครงการ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการออกแบบหรือการกำหนดรูปแบบการพัฒนาโครงการ ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายใต้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบและนำไปใช้เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาและจัดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบทางลบต่อชุมชนน้อยที่สุด
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท จะรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งคาดว่าโครงการฯ สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณปี พ.ศ. 2571 -2573 และสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ประมาณปี พ.ศ.2574 โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.ถนนเลี่ยงเมืองพัทลุงด้านเหนือ.com 2.แฟนเพจเฟสบุ๊ค : ถนนเลี่ยงเมืองพัทลุงด้านเหนือ 3.Line Official เมืองพัทลุงด้านเหนือ