“ราชทัณฑ์” ตั้งเป้าองค์กรโปร่งใส-มีคุณธรรม ต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ พร้อมเปิดช่องทางร้องทุกข์ส่งตรงถึงอธิบดี เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ
วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.00 นาฬิกา นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานในปี 2565 ว่า จะมุ่งมั่นป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในงานราชทัณฑ์ทุกมิติ โดยนำการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) มาเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในงานราชทัณฑ์อย่างเข้มข้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและสังคมต่อความโปร่งใสในหน่วยงาน ผ่าน 5 แนวนโยบายสำคัญ ได้แก่ 1.ป้องกันมิให้เกิดการทุจริตในทุกกระบวนงานของกรมราชทัณฑ์ 2.เร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์และเสนอข้อเท็จจริงให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ทราบโดยเร็ว 3.กำหนดโทษทางวินัยผู้ต้องขังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในเรือนจำ 4.จัดทำข้อกำหนดจริยธรรมข้าราชการราชทัณฑ์เป็นการเฉพาะ และ 5.ยกระดับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของกรมราชทัณฑ์
ในปี 2565

นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า การประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริต ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล และมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จึงมุ่งเน้นการต่อต้านและป้องกันการทุจริตเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก โดยได้เปิดช่องทางรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยตรงถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผ่านทางสำนักงานเลขานุการกรม ซึ่งจะทำให้เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และในส่วนผู้บัญชาการเรือนจำและผู้อำนวยการทัณฑสถาน ต้องกำชับสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ห้ามปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นเป็นอันขาด

“สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องขังและญาติ เพื่อสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเรือนจำนั้น แม้ว่ามีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดเพียงจำนวนน้อย แต่นับว่าสร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบอย่างรอบด้าน หากมีข้อบ่งชี้ชัดว่าผู้ใดกระทำผิด ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ฉะนั้น ทุกกระบวนการภายในเรือนจำต้องโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ ห้ามมิให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กว่าร้อยละ 99 ล้วนเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและเสียสละ ไม่ท้อถอยในการทำความดี ส่วนผู้ที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้เลือกกระทำ” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่