ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบถุงยังชีพและเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยจังหวัดจันทบุรี เน้นย้ำบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดทำข้อมูลเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
วันนี้ (16 ต.ค. 64) เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจันทบุรี นายอำเภอทุกอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป
<script async custom-element="amp-auto-ads"
src="https://cdn.ampproject.org/v0/amp-auto-ads-0.1.js">
</script>
โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เร่งขนย้ายสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองขลุ ที่อำเภอขลุง ให้เเล้วเสร็จภายใน 7 วัน และประสานให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรี พาไปดูจุดที่เกิดปัญหา โดยสั่งการให้เคลื่อนย้ายหินออกจากคลองก่อนโดยเร็ว เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก ไม่กีดขวางทางน้ำ ทำให้เรือไม่สามารถสัญจรผ่านได้ พร้อมสั่งการให้นายอำเภอขลุง เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่นำหินมาทิ้งในคลอง โดยเร่งสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาดำเนินดคีโดยเร็ว และให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาออกข้อบังคับในเรื่องการอนุญาตสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การพิจารณาไม่อนุญาตให้สร้างบ้านเรือนที่เสี่ยงน้ำท่วม (พื้นบ้านติดกับดิน) และ 2) การถมดินในพื้นที่ ต้องมีเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ ได้เน้นย้ำสั่งการไปที่ฝ่ายกฎหมายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการยกร่าง กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เเล้ว จึงขอให้ท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี เเจ้งและกำกับติดตามการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เราไม่ได้ห้ามให้ถมดิน เเต่ให้มีเกณฑ์กลางไว้ใช้ ให้เสมอหรือสูงกว่าถนน โดยให้หารือร่วมกับสำนักงานโยธาธิการเเละผังเมืองจังหวัดจันทบุรี ผลักดันสู่การเป็น “จันทบุรีโมเดล” เพื่อให้เกิดการเเก้ปัญหาเป็นเชิงระบบ
จากนั้น ในเวลา 12.15 น. ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้เดินทางต่อไปมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้แทนหมู่บ้าน/ชุมชน ในพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จำนวน 200 ชุด พร้อมพบปะให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยกล่าวว่า “ในขณะนี้ ขอให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกท่านอย่าได้ประมาท ช่วยกันติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ รับฟังข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านทางหอกระจายข่าว ทีวี และขณะเดียวกัน ต้องดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่จะมากับน้ำท่วมและภัยจากอุบัติเหตุ เช่น ดื่มเหล้าจนเมาแล้ววูบจมน้ำ โรคไข้หวัด อุจจาระร่วง โรคผิวหนัง ไฟฟ้าช็อตเนื่องจากน้ำท่วมถึงบริเวณปลั๊กไฟ เป็นต้น ต้องระมัดระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และรักษาสุขอนามัย สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนบ้านในชุมชน อย่าประมาท และหากต้องการขอรับความช่วยเหลือจากสถานการณ์อุทกภัย ให้ติดต่อสายด่วนนิรภัย 1784 หากเจ็บไข้ได้ป่วยกระทันหันหรือเจอคนประสบอุบัติเหตุ โทร. 1669 และหากมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ถูกทวงหนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โทร. 1567 ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง คิดหวังสิ่งใดให้สมความปรารถนา รอดปลอดภัยจากภัยน้ำท่วมโดยเร็ววัน และต้องระลึกเสมอว่า “เราคนไทยไม่ทิ้งกัน เราคนไทยจะช่วยเหลือกัน เราคนไทยจะดูแลซึ่งกันและกัน” ตลอดไป
ด้าน นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรี ได้รับผลกระทบจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคตะวันออก และได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” และพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ทำให้มีฝนตกต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2564 และได้ตกหนักสะสมตั้งเเต่วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 21.00 น. จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2564 เวลา 03.00 น. และได้มีน้ำทะเลหนุนทำให้เกิดมวลน้ำสะสมจำนวนมากตามลำน้ำสาขาเข้าท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองจันทบุรี อ.ขลุง อ.ท่าใหม่ อ.มะขาม อ.แหลมสิงห์ และอ.เขาคิชกูฏ รวม 46 ตำบล 254 หมู่บ้าน 11 ชุมชน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 10,000 ครัวเรือน (กว่า 27,000 คน)
สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับว่ามีแผนการเผชิญเหตุที่ดี และการฟื้นฟูเหตุที่ดีมาก ขอให้เตรียมเเผนเผชิญเหตุ โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบหน้าที่ของตนเอง ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย เเละหลังเกิดภัย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจพื้นที่จุดอ่อน จุดเสี่ยง เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำคำของบประมาณกับทางรัฐบาล เพื่อเเก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติยึดมั่นและปฏิบัติตามอุดมการณ์ อย่าท้อ แม้ว่าเงินเดือนไม่มากเท่าเอกชน เเต่สามารถทำให้เรามีงานที่มั่นคงได้ ขอให้ยึดว่าเราทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน ให้เกิดความสุข อย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.ครั้งที่ 147/2564